สกสว. รับหน้าที่เชื่อมโยงการจัดการน้ำของประเทศ ชี้ผลวิจัยน้ำท่วมกระทบกลุ่มเปราะบางล้านคน – เชียงรายหนักสุด


  สกสว.พร้อมรับหน้าที่เชื่อมโยงการจัดการน้ำเพื่อตอบโจทย์ประเทศและหน่วยปฏิบัติการทั้งระดับลุ่มน้ำและระดับพื้นที่ ขณะที่ทีมวิจัยการบริหารจัดการน้ำชี้น้ำท่วมยังครอบคลุม 8 จังหวัด คาดการณ์แนวโน้มปริมาณน้ำท่าสูงขึ้นใน 10 วัน ตั้งแต่พื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและอยุธยา ขณะที่ปริมาณน้ำฝนยังสูงในภาคกลางและภาคอีสาน ชี้น้ำท่วมปีนี้กระทบประชาชนกว่า 2.55 ล้านคน เกินครึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางทั้งเด็กและผู้สูงอายุ กรุงเทพฯ – 18 กันยายน 2567 : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้จัดการประชุมหน่วยบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านการบูรณาการบริหารงานวิจัย ด้านบริหารทรัพยากรน้ำ โดยมี รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. เป็นประธาน ณ ห้องประชุม สกสว. เพื่อให้คณะทำงานร่วมกันสนับสนุนข้อมูลแก่ สกสว. ในการส่งเสริมวิชาการแก่หน่วยบริหารและจัดการทุน และหน่วยงานปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ รวมถึงประสานเครือข่ายทุกภาคส่วนในการจัดทำข้อมูลและกรอบการทำงานการบริหารงานวิจัยด้านทรัพยากรน้ำ และนำผลงานวิจัยด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไปใช้ประโยชน์
รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว.
รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว.
สำหรับประเด็นการหารือในครั้งแรก ประกอบด้วย 1) แนวทางการบูรณาการงานวิจัยด้านทรัพยากรน้ำ แนวทางการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ และแนวทางการกำหนดโจทย์วิจัยด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2570   2) แนวทางการดำเนินงานประเด็นมุ่งเป้าตามยุทธศาสตร์ ววน. (ระดับลุ่มน้ำ หรือ ระดับจังหวัด) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568  3) โครงการการสังเคราะห์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: ผลกระทบทางเศรษฐกิจ-สังคม-สิ่งแวดล้อม และการปรับตัว เพื่อเป็นข้อมูลแก่ธนาคารโลกและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  และ4) แนวทางการดำเนินงานของคณะทำงาน “สกสว. และกองทุน ววน.จะสนับสนุนโจทย์ของประเทศ และบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ให้มีความเชื่อมโยงกับการบริหารจัดการระดับลุ่มน้ำ มีกลไกมิติการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำที่อยู่ตอนบน ตอนกลาง และตอนล่างของลุ่มน้ำ ตลอดจนกลไกมิติการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำข้ามลุ่มน้ำ ซึ่งจะต้องมีข้อต่อสำคัญในการทำให้ข้อมูล ชุดความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปสนับสนุนการปฏิบัติการทั้งในระดับพื้นที่ ระดับลุ่มน้ำ อีกทั้งเป็นหลักในการทำงานเป็นกลุ่มก้อนและเชื่อมโยงกับทุกหน่วยงานในระบบการบริหารจัดการน้ำ โดย ววน. ยินดีสนับสนุนให้ประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้า และสร้างพื้นที่การเรียนรู้กับพื้นที่และต่างประเทศ” ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าว
รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์  (กลาง) ประธานแผนงานวิจัยแผนงานการขับเคลื่อนแนวทางการใช้ประโยชน์ด้านการบริหารจัดการน้ำ ระยะที่ 1
รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์  (กลาง) ประธานแผนงานวิจัยแผนงานการขับเคลื่อนแนวทางการใช้ประโยชน์ด้านการบริหารจัดการน้ำ ระยะที่ 1
ด้านรศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยแผนงานการขับเคลื่อนแนวทางการใช้ประโยชน์ด้านการบริหารจัดการน้ำ ระยะที่ 1 ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยถึงผลการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) โดยทีมวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เมื่อวันที่12 กันยายน 2567 พบว่าพื้นที่ที่ยังน้ำท่วมครอบคลุม 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก และสุโขทัย ส่วนสถานการณ์น้ำของเขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำฝนยังมีสูงในบริเวณแนวภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนเหนือและตอนใต้ โดยมีปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนภูมิพล 52% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 6,527 ล้าน ลบ.ม.) เขื่อนสิริกิติ์ 84% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 1,568 ล้าน ลบ.ม.) เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 50% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 473 ล้าน ลบ.ม.) และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 37% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 41 ล้าน ลบ.ม.) สรุปปริมาณน้ำคาดการณ์ระหว่างวันที่ 15-29 กันยายน 2567 ปริมาณน้ำท่าในลุ่มน้ำเจ้าพระยายังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่จังหวัดเชียงรายปริมาณน้ำท่ามีแนวโน้มลดลง โดยแนวโน้มปริมาณน้ำท่าสูงสุดใน 10 วันข้างหน้า ประกอบด้วย จังหวัดกำแพงเพชรเพิ่มจาก 120 ลบ.ม./วินาที เป็น 245 ลบ.ม./วินาที จังหวัดพิษณุโลกเพิ่มจาก 282 ลบ.ม./วินาที เป็น 412 ลบ.ม./วินาที จังหวัดอุทัยธานีเพิ่มจาก 40 ลบ.ม./วินาที เป็น 67 ลบ.ม./วินาที จังหวัดนครสวรรค์เพิ่มจาก 1,246 ลบ.ม./วินาที เป็น 1,336 ลบ.ม./วินาที จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพิ่มจาก 1,196 ลบ.ม./วินาที เป็น 1,457 ลบ.ม./วินาที “การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากภาวะน้ำท่วม ระดับตำบล ปี 2567 (ข้อมูลพื้นที่น้ำท่วม ความเสียหาย และประชาชนที่ประสบภัย) โดยวิเคราะห์จากภาพถ่ายดาวเทียม ณ วันที่ 14 กันยายน 2567 พบว่าประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมรวมทั้งสิ้น 896,280 ไร่ ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อภาคการเกษตร โดยเฉพาะนาข้าวได้รับผลกระทบรวม 275,535 ไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 1,244 ล้านบาท โดยภาคเหนือเสียหายมากสุด 705 ล้านบาท ส่วนผลกระทบทางสังคมต่อประชาชนกว่า 2.55 ล้านคน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบางไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ในจำนวนนี้เกินครึ่งเป็นผู้สูงอายุที่มีมากกว่า 5.12 แสนคน และเป็นเด็กอายุระหว่างแรกเกิดถึง 18 ปี กว่า 4.67 แสนคน ขณะที่ในระดับภูมิภาคพบว่าภาคเหนือประสบปัญหาน้ำท่วมหนักสุดโดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายที่มีพื้นที่น้ำท่วมสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ เสียหาย 153,056 ไร่ รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยเฉพาะจังหวัดนครพนมและหนองคาย ส่วนพื้นที่ภาคกลางเริ่มประสบปัญหาน้ำท่วมในบางพื้นที่” รศ. ดร.สุจริต  กล่าว


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save