“แพลตฟอร์ม AIP” นวัตกรรมข้อมูลจาก “ ธีออส 2 ” ช่วยให้นโยบายภาครัฐปฏิบัติได้จริง


“ธีออส 2” โครงการนี้…ไม่ได้มีแค่การสร้างดาวเทียม แต่ยังมีการสร้างคุณค่าและใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียมของไทย สำหรับ “ แพลตฟอร์ม AIP ” ก็เป็นอีกหนึ่งบริการภายใต้ “โครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา หรือ ธีออส 2 (THEOS-2)” ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ที่แสดงให้เห็นว่า “ข้อมูลจากดาวเทียม” เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกับข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ผ่านการเชื่อมโยง วิเคราะห์ ประมวลผล จนกลายเป็นข้อมูลเชิงลึกที่จะทำให้ผู้วางแผนนโยบาย สามารถมองเห็นปัญหาที่ซับซ้อนได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะนำไปสู่การวางแผนและกำหนดนโยบายที่ถูกต้อง แม่นยำและนำไปปฏิบัติได้จริง

ดร.ดิชพงษ์ ภูมิเกียรติศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาระบบนวัตกรรมนโยบายเชิงพื้นที่ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA กล่าวว่า โครงการธีออส 2 เริ่มต้นเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแนวคิด AIP ของ GISTDA ก็เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 6-7 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน โดย “AIP” หรือ “ Actionable Intelligence Policy ” จะเป็นแพลตฟอร์มสำหรับสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายที่เกิดจากการใช้ข้อมูลเชิงลึก (Intelligence/Insight) มาวิเคราะห์ประเด็นปัญหานั้น ๆ แสดงผลลัพธ์โดยใช้ Dashboard มาประกอบการตัดสินใจในการกำหนดนโยบาย(Policy Formulation ) เพื่อให้นโยบายนั้น ๆ สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง(Actionable)

หน้าที่หลักของแพลตฟอร์ม AIP ก็คือ การช่วยกลั่นกรองและวิเคราะห์ข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Big Data จากแหล่งต่าง ๆ แทนสมองของมนุษย์ เพื่อให้มองเห็นภาพหรือประเด็นปัญหาได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น สามารถนำเสนอแนวทางหรือแผนงาน ได้อย่างหลากหลาย ทันสถานการณ์ มีความสมดุล ถูกต้องแม่นยำ และสามารถทดสอบนโยบายนั้น ๆ ได้

AIP จะมีหลักการทำงาน ตาม “Policy Cycle” ซึ่งการกำหนดนโยบายจะเริ่มจาก 1.การกำหนดประเด็นปัญหา ซึ่งไม่ได้เริ่มจากการมีข้อมูลเป็นจำนวนมาก แต่เป็นการเริ่มจากปัญหาก่อนว่าจะแก้ปัญหาอะไรในพื้นที่ และไปหาข้อมูลมาแก้ปัญหา 2. มีการพัฒนาดัชนีชี้วัด พร้อมกับสร้าง Dashboard เพื่อให้เห็นสถานการณ์ในแต่ละมิติของปัญหาและนำไปสู่แนวทางแก้ปัญหา 3.สร้างแนวทางการแก้ไขปัญหา( Action Plan) 4.จำลอง Action Plan ตามแต่ละสถานการณ์ (Scenarios)เพื่อประเมินผลลัพธ์ และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งการทดสอบนโยบายบนระบบก่อนนำไปใช้จริงนี้ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญของแพลตฟอร์ม AIP 5. การเลือก Action Plan ที่เหมาะสมที่สุด 6. นำ Action Plan ที่เลือกไปปฏิบัติจริง และ 7. ติดตามประเมินผล โดยสามารถปรับแผนได้หากไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง

การดำเนินการตาม “Policy Cycle” ถือเป็นจุดเด่นของแพลตฟอร์ม AIP และเรียกได้ว่าเป็น “ตัวช่วยผู้ที่มีหน้าที่กำหนดนโยบายได้แบบครบวงจร” ตั้งแต่การเห็นปัญหา ใช้ข้อมูลสนับสนุน สร้างโมเดลจำลอง ก่อนที่จะเลือกกำหนดเป็นนโยบาย ทำให้นโยบายภาครัฐสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ทำแล้วประสบความสำเร็จ สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การใช้ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ เป็นเทรนด์ของโลก ซึ่งหลายๆ ประเทศ ให้ความสนใจ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ที่มี “Policy Map” เป็นเครื่องมือด้านข้อมูลแผนที่ในหลายมิติ ทั้งด้านรายได้ คุณภาพชีวิต และดัชนีต่าง ๆ ซึ่งประเทศไทยก็ต้องการที่จะมีเครื่องมือแบบนี้เช่นกัน แต่ปัจจุบันระบบข้อมูลแผนที่ส่วนใหญ่ ยังเป็นการใช้งานเฉพาะเรื่อง “แพลตฟอร์ม AIP “ จาก GISTDA จึงเป็นแพลตฟอร์มแรก ที่ทำครบทั้งระบบ ผู้กำหนดนโยบายสามารถนำไปใช้ในการออกนโยบายได้ภายในระบบเดียว

ดร.ดิชพงษ์ กล่าวว่า แพลตฟอร์ม AIP มีความสามารถในการประมวลผลจากหลากหลายแหล่งข้อมูล ให้เป็น Smart Information ขณะที่จุดแข็งของ GISTDA ก็คือ การมีข้อมูลที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สำคัญที่สุด คือข้อมูลดาวเทียมต่าง ๆ ทั้งจากดาวเทียมไทยโชติและธีออส 2 หรือจากดาวเทียมดวงอื่น ๆ ที่ GISTDA รับสัญญานมา รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ จากหน่วยงานพันธมิตร เช่น เซ็นเซอร์ หรือ เรดาร์ชายฝั่ง

ปัจจุบัน GISTDA นำแพลตฟอร์ม AIP ไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต้นแบบ ยกตัวอย่างเช่น ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่มีการนำไปใช้ในการศึกษาและเห็นปัญหาเรื่องของการขาดแคลนน้ำในอนาคตที่น่าจะเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุเช่น การพัฒนาและขยายตัวของพื้นที่อย่างต่อเนื่อง มีความต้องการใช้น้ำในทุกภาคส่วน และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลต่อการทำการเกษตรกรรมในพื้นที่ มีการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างตัวเลือกด้านนโยบาย เช่น การพัฒนาอ่างเก็บน้ำหรือสร้างท่อส่งน้ำ และได้มีการทดสอบนโยบายนั้น ๆ เพื่อดูว่าแผนใดเหมาะสม เพื่อที่จะสามารถบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการในพื้นที่ ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรมและภาคครัวเรือน หรือในพื้นที่ต้นแบบที่จังหวัดน่าน ที่ผู้กำหนดนโยบายสามารถใช้แพลตฟอร์ม AIP เพื่อประเมินความเหมาะสมในการจัดสรรที่ดิน ทั้งในส่วนของที่ทำกิน และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ มีการวิเคราะห์ถึงเรื่องพืชที่เป็นมิตรต่อระบบนิเวศและให้ผลผลิตเพื่อให้ทำการเกษตรได้อย่างเป็นมิตรกับพื้นที่

นอกจากนี้ยังมีการขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ รวมถึงมีการใช้งานกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การปล่อยก๊าซมีเทนในนาข้าว และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดน้อยลง

ดร.ดิชพงษ์ กล่าวถึงเป้าหมายสำคัญของแพลตฟอร์ม AIP ว่า อยากให้นโยบายของภาครัฐทุก ๆ นโยบายออกมาแล้ว สามารถปฏิบัติได้จริง

“เราอยากจะเป็นเครื่องมือให้กับทุก ๆ หน่วยงานที่จะออกนโยบายในเรื่องต่าง ๆ ทั้งด้านการเกษตร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบริหารจัดการน้ำ หรืออื่นๆ แม้แต่เรื่องภาพรวมและนโยบายท้องถิ่นในแต่ละจังหวัด ซึ่งนวัตกรรมจากข้อมูลดาวเทียม สามารถนำไปเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ในการสนับสนุนการกำหนดนโยบายที่เหมาะสม สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาได้จริง ซึ่งจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น” ดร.ดิชพงษ์ กล่าว


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save