สจล.เปิดตัวศูนย์ “KAISEM” ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ครั้งแรกในไทย สร้างบัณฑิตรองรับตลาดแรงงานในอนาคต


         ในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนา ครบรอบ 64 ปี ก้าวเข้าสู่ปีที่ 65 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดตัวศูนย์ “KMITL Academy of Innovative Semiconductor” (KAISEM) ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ที่ครบวงจรแห่งแรกในประเทศ โดยศูนย์ KAISEM จะทำหน้าที่เป็นห้องปฏิบัติการกลาง (Central Laboratory) ที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขามาร่วมมือกันในการทำวิจัย นวัตกรรมด้านเซมิคอนดักเตอร์ รวมทั้งกระบวนการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ และพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เซมิคอนดักเตอร์ของไทย ซึ่งเป็นหัวใจของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่ และเป็นศูนย์กลางในการศึกษาและพัฒนาบุคลากร นำ สจล.มุ่งสู่การเป็นผู้นำนวัตกรรมระดับโลก หรือ The Word Master of Innovation อย่างยั่งยืน พร้อมสร้างความร่วมมือกับบริษัท  National Instruments Singapore ซึ่งเป็นบริษัทด้านวิศวกรรมชั้นนำระดับโลก ในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการร่วมกัน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนภารกิจของศูนย์ KAISEM ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ บริหารองค์กรอย่างบูรณาการและยั่งยืน มุ่งสู่ความเป็นเลิศทางด้านการศึกษาตามแนวทาง Global Leaning และ Global Citizen ภายในปี 2569

         รองศาสตราจารย์ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)  กล่าวว่า การดำเนินนโยบายขององค์กรมุ่งการทำงานให้เป็นไปตามแผนกลยุทธ์ตัวชี้วัด 5 Global Index ในการขับเคลื่อนงานของสถาบันด้านวิชาการ งานด้านวิจัย และนวัตกรรม งานบริการสังคม ซึ่งประกอบด้วย Global Citizen ที่เน้นหลักสูตรทันสมัย, Global Innovation ยกระดับคุณภาพงานวิจัยและนวัตกรรมสู่ระดับแนวหน้า, Global Learning สร้างวิทยาเขตชุมพรฯ และพื้นที่สถาบันที่ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ครบวงจรร่วมกับชุมชนด้านเกษตรอัจฉริยะ, Global Infrastructure สร้างบรรยากาศที่ดีในการเรียนและการทำงาน และGlobal Management มุ่งให้มีระบบการบริหารจัดการภายในสถาบันที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ด้วยการบริหารงานด้วยข้อมูล โดยแผนบริหารทั้ง 5 Global Index ได้กำหนดกระบวนการที่เรียกว่า KMITL Readiness Level (KRL) มีเป้าหมายในระยะเวลา ปี พ.ศ.2567- 2569

ตลอด 64 ปีที่ผ่านมา สจล. ได้สร้างชื่อเสียงในด้านการศึกษาและการพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์ เช่น วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมระบบการผลิต และวิศวกรรมวัสดุ รวมทั้ง สจล. ได้มีการศึกษาวิจัยที่ยาวนานเกี่ยวกับเซมิคอนดักเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบวงจรรวม การพัฒนาอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ หรือการออกแบบแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ที่ประยุกต์ใช้งานในด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับภาคเอกชน มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยชั้นนำจากทั่วโลก เช่น ไต้หวัน ประเทศญี่ปุ่น และสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เราจึงมีความพร้อมในการที่จะเป็นผู้นำด้านเซมิคอนดักเตอร์และจัดตั้งศูนย์ “KMITL Academy of Innovative Semiconductor Manufacturing” (KAISEM) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาหลักสูตรเฉพาะทางและเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาในการก้าวสู่อนาคตที่เต็มไปด้วยความท้าทายของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เชื่อมโยงภาคการศึกษาและอุตสาหกรรมเพื่อให้บริการวิชาการที่ครอบคลุมและตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก

       รองศาสตราจารย์ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า  ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้พัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหลักสูตรของภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่พร้อมผลิตบุคลากรคุณภาพรองรับตำแหน่งงานด้านเซมิคอนดักเตอร์ จากความร่วมมือจากบริษัทชั้นนำกว่า 11 องค์กร ทำให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. มีห้องปฏิบัติการด้านเซมิคอนดักเตอร์และสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย สนับสนุนให้เกิดศูนย์กลางการผลิตบุคลากรในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศไทย

นอกจากนี้ คณะยังได้เสนอแนวทางการเรียนไปพร้อมกับการทำงาน (WIL) ซึ่งช่วยให้บุคลากรพร้อมเข้าสู่ตลาดงานได้ทันทีและลดระยะเวลาในการรอให้กับภาคอุตสาหกรรม ภายในงานการเปิดศูนย์ KAISEM ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างสถาบันฯ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ บริษัท National Instruments Singapore ซึ่งเป็นบริษัทด้านเซมิคอนดักเตอร์ ชั้นนำระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบทดสอบและวัดผลอัตโนมัติ และให้บริการในหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ อากาศยาน อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม มาช่วยยกระดับการเรียนการสอนและการวิจัยของคณะ ให้ก้าวสู่ระดับสากล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิภู ศรีสืบสาย รักษาการแทนคณบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ สจล. กล่าวว่า สจล. ให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยเป็นผู้ให้บริการงานด้านวิชาการกับทั้งภาครัฐและเอกชนจนเป็นที่ยอบรับมาอย่างยาวนาน  รวมทั้งวิทยาลัยฯ เป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ มีองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมวัสดุ (Material Engineering) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ การเปิดศูนย์ KAISEM ครั้งนี้ จึงนับเป็นอีกก้าวหนึ่งของความสำเร็จ ซึ่งในพิธีเปิดศูนย์ยังจัดให้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU)  ระหว่างสองฝ่าย โดยมีสาระสำคัญ ประกอบด้วย การค้นหาและสร้างความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ กลุ่มวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ การเข้าร่วมในโครงการวิศวกรรมเชิงนวัตกรรมของสถาบัน การเข้าร่วมการประชุมวิศวกรรมนานาชาติ เช่น การประชุม IEEE  ในโครงการความร่วมมือเฉพาะและจะยืนยันโครงการเหล่านั้นผ่านการสรุปข้อตกลงเพิ่มเติม ซึ่งมีระยะเวลา 12 เดือนนับจากวันที่ลงนาม และจะต่ออายุโดยอัตโนมัติเป็นระยะเวลา 12 เดือนต่อไป เว้นแต่จะมีการแจ้งยกเลิกโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ในโอกาสนี้ สจล.ยังได้จัดงานเสวนาหัวข้อ “บทบาทของ Academy ในการผลิตบัณฑิตที่ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมซมิคอนดักเตอร์” โดย รองศาสตราจารย์.ดร.คมสัน มาลีสี กล่าวว่าการเปิดตัวศูนย์ ‘KAISEM’ หรือ ‘KMITL Academy of Innovative Semiconductor Manufacturing’ ในครั้งนี้จะทำให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในไทยแข็งแกร่งมากขึ้น โดยได้รับความร่วมมือในการวางโครงร่างแพลตฟอร์มจากมหาวิทยาลัยเฉิงกุง ซึ่งเป็นต้นแบบของการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ประสบความสำเร็จในไต้หวัน เราจึงนำความสำเร็จนั้นมาพัฒนางานวิจัยของมหาวิทยาลัยในรูปแบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์ เราจึงมั่นใจว่า ‘KAISEM’ จะทำให้มหาวิทยาลัยของเราเป็นสถาบันการศึกษาที่ให้ความสำคัญและเป็นจุดเริ่มต้นในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์  อันเป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทยให้ก้าวหน้าในอนาคต

“สำหรับความพร้อมในการจัดหลักสูตรด้านเซมิคอนดักเตอร์ของมหาวิทยาลัย ตอนนี้กำลังอยู่ในกระบวนการรองรับนักศึกษา ซึ่งหลักสูตรนี้จะเปิดรับสมัครในระบบ Tcas หรือระบบการคัดเลือกนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยที่จะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคมจนถึงธันวาคมนี้ เพื่อผลิตนักศึกษาที่มีองค์ความรู้ครบวงจรในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์”  รองศาสตราจารย์.ดร.คมสัน กล่าว

         รองศาสตราจารย์ดร.ฉัตรพล ภคศิริ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง กล่าวว่า หลักสูตรเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ Manufacturing เป็นศาสตร์ที่ใช้องค์ความรู้หลากหลาย ทำให้ศูนย์ ‘KAISEM’ นั้นเป็นศูนย์ที่รวบรวมอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายภาควิชาและคณะวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งในเบื้องต้นจะเป็นภาควิชาอิเล็กทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ และวิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง โดยคณะอาจารย์ในวิทยาลัยและคณะดังกล่าวจะร่วมกันพัฒนาหลักสูตรอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อให้หลักสูตรนี้ตอบโจทย์ต่ออุตสาหกรรมให้มากที่สุด ด้วยการสร้างหลักสูตรผลิตบัณฑิตทั้งปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก เพื่อร่วมพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพรอบด้านสู่ตลาดอุตสาหกรรมในอนาคต รวมถึงมีเป้าหมายในการออกแบบและพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงการพัฒนางานวิจัยเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับประเทศต่อไป

 ศาสตราจารย์ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ถือเป็นอนาคตของโลกรวมถึงในประเทศไทย ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะทำอุตสาหกรรมนี้ประสบความสำเร็จ ก็คือการพัฒนากำลังคนที่มีทักษะทางด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์ ดังนั้นกระทรวง อว.ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลและพัฒนานวัตกรรมในมหาวิทยาลัย จึงเล็งเห็นความสำคัญและศักยภาพของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการขับเคลื่อนการผลิตกำลังคน ไม่เพียงแต่นักศึกษาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการพัฒนาทักษะของอาจารย์และอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเรียนการสอน รวมทั้งห้องทดลองและห้องปฏิบัติการที่ต้องได้รับการพัฒนาเช่นเดียวกัน นอกจากความร่วมมือจากภาครัฐแล้ว เรายังต้องเชื่อมโยงความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรมและภาคเอกชนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

“สำหรับนโยบายการผลิตคนตามแผนของท่านรัฐมนตรีกระทรวงอว.นั้นมีเป้าหมายเพื่อผลิตคนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ให้ถึงประมาณ 8 หมื่นคนใน 5 ปี ภายใน 5 ปีนี้เราจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยในประเทศ โดยมี สจล.เป็นผู้นำในการพัฒนาคน รวมถึงเป็นมหาวิทยาลัยแรกในการเปิดหลักสูตร Sandbox ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศ ด้วยการพัฒนาคนให้มีศักยภาพไปตามเป้าหมายร่วมกับภาคอุตสาหกรรม โดยคาดว่าจะเปิดหลักสูตรนี้ในปีการศึกษาหน้า นอกจากนี้เรายังเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ทำงานในการฝึกสหกิจศึกษาร่วมกับภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอีกด้วย”  ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย กล่าวทิ้งท้าย


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save